ความสามารถในการรักษาจังหวะที่สม่ำเสมอ เป็นทักษะที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตในหลายๆ
ด้าน การสัมผัสถึงจังหวะที่สม่ำเสมอนั้น เป็นสิ่งที่นำไปสู่ทักษะการเคลื่อนไหวและทักษะทางด้านดนตรี
ซึ่งทักษะดังกล่าวยังส่งผลต่อความสามารถทางด้านกีฬา การพูด การอ่านที่คล่องแคล่วลื่นไหล
รวมไปถึงส่งผลต่อการเรียนรู้ทางคณิตศาสตร์อีกด้วย (Weikart, Schweinhart,และ
Larner, 1987) อัตราจังหวะในดนตรีสามารถส่งผลกระทบต่อการทำงานของคลื่นสมอง (Saarman, 2006) โดยดนตรีที่มีจังหวะหนักและเร็วสามารถ กระตุ้นให้สมองทำงานอย่างตื่นตัวตามจังหวะของเพลง
ส่วนดนตรีที่มีจังหวะช้าสามารถกระตุ้นให้คลื่นสมองทำงานได้ช้าตามเสียงดนตรี ซึ่งส่งผลให้อยู่ในสภาวะกล่อม
ให้หลับหรืออยู่ในช่วงของการเกิดความคิดใคร่ครวญได้ จังหวะในดนตรีสามารถส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการทำงานของอวัยวะภายในร่างกายได้เช่นกันยกตัวอย่าง เช่น อัตราการหายใจ ความดันโลหิต การเต้นของหัวใจ การตอบสนองทางม่านตา การตึงตัวของกล้ามเนื้อ (เสาวนีย์ สังฆโสภณ, 2553) จึงกล่าวได้ว่าจังหวะและดนตรีนั้น สามารถช่วยในการพัฒนาศักยภาพและการเรียนรู้ของสมองได้เป็นอย่างดี
นอกจากจังหวะและดนตรีแล้ว ในปัจจุบันการศึกษาในประเทศไทย ได้มีการนำแนวคิดและทฤษฎีต่างๆ มาประยุกต์และปรับใช้เป็นแนวทางในการจัดการศึกษาอยู่หลายแนวคิด โดยเฉพาะองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematic) ซึ่งถือเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้า จึงมีการนำเอาองค์ความรู้ดังกล่าวมาพัฒนาจัดการเรียนการสอนแบบSTEM Educationขึ้น สำหรับการศึกษาในระดับปฐมวัยได้มีการนำแนวคิดนี้ เข้ามาใช้ในการจัดกิจกรรมประจำวัน และนำมาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามหน่วย ซึ่งการจัดการเรียนรู้แบบSTEM Education ยังสามารถบูรณาการศิลปะ (A-Art) เพื่อช่วยเสริมสร้างจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ และสิ่งสำคัญในการเรียนรู้ของเด็กคือความสามารถพื้นฐานในการอ่านออกเขียนได้ (R-Read and Write)ซึ่งทำให้การเรียนการสอนแบบSTEM Educationถูกพัฒนาไปสู่การจัดการเรียนการสอนแบบ STREAM ซึ่งเชื่อว่ารากฐานทางวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เป็นองค์ประกอบสำคัญในการประกอบอาชีพในศตวรรษที่ 21 และการบูรณาการเทคโนโลยี การรู้หนังสือ การอ่านการเขียน และศิลปะเข้ากับกิจกรรมการเรียนการสอนจะช่วยสนับสนุนความต้องการที่หลากหลายของผู้เรียนได้ดียิ่งขึ้น
นอกจากการนำแนวคิดดังกล่าวมาปรับใช้กับการศึกษาแล้ว การสร้างความฉลาดทางปัญญา (Intelligence Quotient: IQ) และความฉลาดทางอารมณ์ (Emo-tional Quotient: EQ) เป็นพื้นฐานให้กับเด็กก็ถือเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญมากสำหรับเด็กในยุคนี้ ที่เพราะคุณลักษณะเหล่านี้จะนำพาเด็กให้ไปสู่การเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จในการเรียน การทำงาน เป็นคนดี คนเก่ง และมีความสุขของสังคมต่อไป จึงมีการนำแนวคิดและคุณลักษณะในข้างต้น มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับตัวเด็ก มีการสร้างกิจกรรมการเรียนรู้หลากหลายกิจกรรม กิจกรรมหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากเด็กปฐมวัย คือ กิจกรรมดนตรีและการเคลื่อนไหว เพราะเด็กปฐมวัยจะมีความสุขสนุกสนาน เกิดจินตนาการต่อการสร้างสรรค์บุคลิกภาพ ลักษณะนิสัยในการเข้าสู่สังคมได้อย่างเหมาะสมกับวัย โดยเด็กที่ได้รับการส่งเสริมการแสดงออกทางดนตรี จะมีการพัฒนาการทางด้าน อารมณ์ จิตใจ ความคิด จินตนาการ สังคม การถ่ายทอดทางความคิดด้วยท่วงท่าลีลาที่เหมาะสม เป็นผู้ที่มีความเชื่อมั่นในตนเองมีสุขภาพที่ดีทางกายและจิตใจ
การอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้จะช่วยให้ผู้ปกครอง คุณครู ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาปฐมวัย ได้เข้าใจเทคนิคการจัดกิจกรรมดนตรีกับการเคลื่อนไหว และการนำกิจกรรมทางดนตรีมาบูรณาการกับการเรียนรู้ตามแนวทาง STREAM Educationเพื่อเสริมสร้างEQและIQในเด็กปฐมวัยให้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการสอน และออกแบบกิจกรรมสำหรับเด็กปฐมวัยในชั้นเรียนต่อไป
คุณสมบัติของผู้เข้าอบรม
ผู้บริหาร ครูปฐมวัย ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา และผู้ปกครองที่สนใจ
1. อาจารย์
วรินทร์ธรา ธนไวทย์โกเศส ค.บ.,ค.ม. (การศึกษาปฐมวัย) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2. ดร. ฉัตรวรรณ์ ลัญฉวรรธนะกร ค.ด. (เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย