“เทคนิคการจัดกิจกรรม STREAM และดนตรีกับการเคลื่อนไหว เพื่อเสริมสร้าง EQ และ IQ ให้เด็กปฐมวัย

20 เมษายน 2562

     ความสามารถในการรักษาจังหวะที่สม่ำเสมอ เป็นทักษะที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตในหลายๆ ด้าน การสัมผัสถึงจังหวะที่สม่ำเสมอนั้น เป็นสิ่งที่นำไปสู่ทักษะการเคลื่อนไหวและทักษะทางด้านดนตรี ซึ่งทักษะดังกล่าวยังส่งผลต่อความสามารถทางด้านกีฬา การพูด การอ่านที่คล่องแคล่วลื่นไหล รวมไปถึงส่งผลต่อการเรียนรู้ทางคณิตศาสตร์อีกด้วย (Weikart, Schweinhart,และ Larner, 1987) อัตราจังหวะในดนตรีสามารถส่งผลกระทบต่อการทำงานของคลื่นสมอง (Saarman, 2006)  โดยดนตรีที่มีจังหวะหนักและเร็วสามารถ กระตุ้นให้สมองทำงานอย่างตื่นตัวตามจังหวะของเพลง ส่วนดนตรีที่มีจังหวะช้าสามารถกระตุ้นให้คลื่นสมองทำงานได้ช้าตามเสียงดนตรี ซึ่งส่งผลให้อยู่ในสภาวะกล่อม

     ให้หลับหรืออยู่ในช่วงของการเกิดความคิดใคร่ครวญได้ จังหวะในดนตรีสามารถส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการทำงานของอวัยวะภายในร่างกายได้เช่นกันยกตัวอย่าง เช่น อัตราการหายใจ ความดันโลหิต การเต้นของหัวใจ การตอบสนองทางม่านตา การตึงตัวของกล้ามเนื้อ (เสาวนีย์ สังฆโสภณ, 2553) จึงกล่าวได้ว่าจังหวะและดนตรีนั้น สามารถช่วยในการพัฒนาศักยภาพและการเรียนรู้ของสมองได้เป็นอย่างดี         

        นอกจากจังหวะและดนตรีแล้ว ในปัจจุบันการศึกษาในประเทศไทย ได้มีการนำแนวคิดและทฤษฎีต่างๆ มาประยุกต์และปรับใช้เป็นแนวทางในการจัดการศึกษาอยู่หลายแนวคิด โดยเฉพาะองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematic) ซึ่งถือเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้า จึงมีการนำเอาองค์ความรู้ดังกล่าวมาพัฒนาจัดการเรียนการสอนแบบSTEM Educationขึ้น สำหรับการศึกษาในระดับปฐมวัยได้มีการนำแนวคิดนี้ เข้ามาใช้ในการจัดกิจกรรมประจำวัน และนำมาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามหน่วย ซึ่งการจัดการเรียนรู้แบบSTEM Education ยังสามารถบูรณาการศิลปะ (A-Art) เพื่อช่วยเสริมสร้างจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ และสิ่งสำคัญในการเรียนรู้ของเด็กคือความสามารถพื้นฐานในการอ่านออกเขียนได้ (R-Read and Write)ซึ่งทำให้การเรียนการสอนแบบSTEM Educationถูกพัฒนาไปสู่การจัดการเรียนการสอนแบบ STREAM ซึ่งเชื่อว่ารากฐานทางวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เป็นองค์ประกอบสำคัญในการประกอบอาชีพในศตวรรษที่ 21 และการบูรณาการเทคโนโลยี การรู้หนังสือ การอ่านการเขียน และศิลปะเข้ากับกิจกรรมการเรียนการสอนจะช่วยสนับสนุนความต้องการที่หลากหลายของผู้เรียนได้ดียิ่งขึ้น

     นอกจากการนำแนวคิดดังกล่าวมาปรับใช้กับการศึกษาแล้ว การสร้างความฉลาดทางปัญญา (Intelligence Quotient: IQ) และความฉลาดทางอารมณ์ (Emo-tional Quotient: EQ) เป็นพื้นฐานให้กับเด็กก็ถือเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญมากสำหรับเด็กในยุคนี้ ที่เพราะคุณลักษณะเหล่านี้จะนำพาเด็กให้ไปสู่การเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จในการเรียน การทำงาน เป็นคนดี คนเก่ง และมีความสุขของสังคมต่อไป จึงมีการนำแนวคิดและคุณลักษณะในข้างต้น มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับตัวเด็ก มีการสร้างกิจกรรมการเรียนรู้หลากหลายกิจกรรม กิจกรรมหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากเด็กปฐมวัย คือ กิจกรรมดนตรีและการเคลื่อนไหว เพราะเด็กปฐมวัยจะมีความสุขสนุกสนาน เกิดจินตนาการต่อการสร้างสรรค์บุคลิกภาพ ลักษณะนิสัยในการเข้าสู่สังคมได้อย่างเหมาะสมกับวัย โดยเด็กที่ได้รับการส่งเสริมการแสดงออกทางดนตรี จะมีการพัฒนาการทางด้าน อารมณ์ จิตใจ ความคิด จินตนาการ สังคม การถ่ายทอดทางความคิดด้วยท่วงท่าลีลาที่เหมาะสม เป็นผู้ที่มีความเชื่อมั่นในตนเองมีสุขภาพที่ดีทางกายและจิตใจ

     การอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้จะช่วยให้ผู้ปกครอง คุณครู ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาปฐมวัย ได้เข้าใจเทคนิคการจัดกิจกรรมดนตรีกับการเคลื่อนไหว และการนำกิจกรรมทางดนตรีมาบูรณาการกับการเรียนรู้ตามแนวทาง STREAM Educationเพื่อเสริมสร้างEQและIQในเด็กปฐมวัยให้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการสอน และออกแบบกิจกรรมสำหรับเด็กปฐมวัยในชั้นเรียนต่อไป


คุณสมบัติของผู้เข้าอบรม

ผู้บริหาร ครูปฐมวัย ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา และผู้ปกครองที่สนใจ

วิทยากร

1. อาจารย์ วรินทร์ธรา ธนไวทย์โกเศส ค.บ.,ค.ม. (การศึกษาปฐมวัย) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2. ดร. ฉัตรวรรณ์ ลัญฉวรรธนะกร ค.ด. (เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย







สถานที่อบรม (VENUE)

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (บางเขน) กรุงเทพฯ

วันและเวลาอบรม (DATE AND TIME)

20 เมษายน 2562 9.00 - 16.00

จัดโดย

เอ็ดเทค ครีเอชั่น
เบอร์ติดต่อ : 086-3309293

ค่าธรรมเนียม (FEE)

1,490 (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว)

ผู้เข้าชม: 3182 ครั้ง